สารบัญ
ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คน “ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง” ซึ่งโรคหนึ่งที่น่ากังวลมากๆ ฟังดูไกลตัว แต่ความจริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนก็คือ “โรคลมพิษ” อาการมีตั้งแต่การเป็นผื่นแดงคัน ไปจนถึงแน่นหน้าอก หอบหืด และในบางรายอาจร้ายแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น มาทำความเข้าใจและหาทางป้องกันเพื่อให้ห่างไกลโรคลมพิษกันดีกว่าค่ะ
ลมพิษคืออะไร
ลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดอาการตามผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นแดงตั้งแต่ผื่นขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว สามารถเกิดได้ แม้กระทั่งบนลิ้น คอ หรือหู โดยมากจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง และไม่ทิ้งร่องรอยไว้ เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย สำรวจตัวเองง่ายๆ ว่ามีอาการของโรคลมพิษหรือไม่ ผ่านการทำความเข้าใจกับลมพิษที่แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
1.ลมพิษเฉียบพลัน (Acute Urticaria)
เป็นอาการผื่นลมพิษที่จะเกิดขึ้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ ได้แก่ อาหาร ยา อากาศ การติดเชื้อไวรัส แต่บางรายก็ไม่อาจหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ ในบางรายอาจจะแสดงอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก แน่นจมูก หอบหืด ตลอดจนเป็นลมจากความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
2.ลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria)
มีอาการลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเกิน 6 สัปดาห์ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ได้รับสารที่แพ้อย่างต่อเนื่อง สารปรุงรส สี กลิ่น หรืออาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มีอาการเป็นผื่นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 – 10 เซนติเมตร สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยส่วนใหญ่แล้วลมพิษประเภทนี้จะไม่เป็นอันตรายรุนแรง เกิดขึ้นภายใน 15 – 30 นาที หลังสัมผัสสารก่อให้เกิดการแพ้ และจะหายได้เองใน 1 – 7 วัน
สาเหตุของลมพิษ
ลมพิษสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหลายครั้งก็ระบุสาเหตุแน่ชัดได้ยาก เบื้องต้นคุณสามารถสังเกตสาเหตุการเกิดลมพิษด้วยตนเองได้ดังนี้
สาเหตุจากโรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้
เมื่อร่างกายได้ไปสัมผัสถูกสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ แสงแดด เหงื่อ ความร้อน ความเย็น อากาศ ไรฝุ่น ขนสัตว์ หรืออาหารบางประเภท เป็นต้น ทำให้ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) มาตอบสนอง ส่งผลให้หลอดเลือดฝอยขยายเกิดเป็นผื่นนูนแดงและมีอาการคัน
สาเหตุจากการติดเชื้อ
ลมพิษอาจเกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมีพยาธิ รวมถึงสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น โรคฟันผุ พยาธิลำไส้ ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก เป็นต้น
สาเหตุจากมลพิษจากสภาพแวดล้อม
สังเกตได้ว่าในช่วงที่เกิดฝุ่น PM2.5 หนาแน่น ทำให้หลายคนมีอาการคันตามผิวหนัง บางคนก็เกิดเป็นลมพิษ นั่นเพราะฝุ่น PM2.5 ประกอบไปด้วยสารอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปรอท แคดเมียม และสารก่อมะเร็งอื่น ๆ ทั้งยังมีขนาดเล็กซึ่งสามารถเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทั้งทางจมูกผิวหนัง เกิดการอักเสบและกลายเป็นลมพิษ
สาเหตุจากการใส่เสื้อผ้าที่คับและแน่นเกินไป
การกดรัดที่ผิวหนังก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลมพิษ สังเกตง่าย ๆ เวลาที่เราใส่เสื้อผ้าที่คับและแน่นเกินไป บริเวณที่ถูกกดรัดจะเกิดเป็นรอย ในบางรายที่มีผิวหนังไวต่อรอยกดหรือขูดข่วนบนผิวหนัง ทำให้เกิดรอยนูนคันในบริเวณดังกล่าวภายในไม่กี่นาที และจะเกิดอาการคัน ซึ่งหากเผลอไปเกาก็จะยิ่งเพิ่มรอยและคันมากขึ้น
สาเหตุจากพักผ่อนไม่เพียงพอ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายของเรามี “ภูมิคุ้มกัน” ที่ดีในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ซึ่งหากพักผ่อนไม่เพียงพอภูมิคุ้มกันจะลดลง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่ายนั่นเอง
สาเหตุจากความเครียด
หลายครั้งที่เรามักจะเครียดไม่รู้ตัว เกิดความเครียดสะสม ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง เช่น ลดประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดสิ่งแปลกปลอม จนมีการแสดงออกทางผิวหนัง เกิดเป็นลมพิษได้
สาเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทที่มียีสต์เป็นส่วนประกอบหลัก เช่น เบียร์ เหล้า สามารถก่อให้เกิดผื่นลมพิษ และมีอาการคันได้ เนื่องจากความผิดปกติของเอนไซม์ในร่างกาย ที่ทำให้กระบวนการ Metabolism ของ Ethanol ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดปกติไป หรืออาจเป็นปฏิกิริยาการแพ้ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการลมพิษ
ลมพิษเป็นได้ ก็หายได้ และป้องกันได้ด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การดูแลตัวเองให้สุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอ เราจึงได้นำวิธีป้องกันและบรรเทาอาการลมพิษมาฝาก
1. หมั่นสังเกตอาการเป็นประจำ
การสังเกตตามร่างกายของตัวเองทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกคัน จะช่วยให้เราเห็นถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย รวมถึงสามารถรู้ที่มาหรือสาเหตุของการแพ้ได้ เพื่อนำไปสู่การป้องกันและรักษาลมพิษอย่างตรงจุด
2. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการบรรเทาและรักษาลมพิษ คือการไปพบและปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางรักษาได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบภูมิแพ้ หรือการรับประทานยาต้านแก้แพ้ นั่นคือ ยาต้านฮีสตามีน ซึ่งควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควรพกยาต้านติดตัวไว้เสมอ ตลอดจนไม่ควรปล่อยละเลยเป็นเวลานาน เพราะบางครั้ง อาการผื่นคันของโรคลมพิษก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกโรคร้ายอย่างเช่น โรคมะเร็ง และระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตััวเองก็เป็นได้ ดังนั้นหากมีอาการจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือรอให้มีอาการหนัก รุนแรง เนื่องจากยิ่งเข้ารับการวินิจฉัยเร็ว ก็สามารถรักษาได้ง่าย โอกาสที่จะหายได้เร็วก็มีมากขึ้นด้วย
3. ใช้ยาทาบรรเทาในกรณีที่อาการไม่รุนแรง
สามารถใช้ calamine lotion ทาบริเวณผื่นลมพิษเพื่อลดอาการคัน แต่อย่าลืมทำความเข้าใจว่ายานี้ทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการคันแต่ไม่ทำให้หาย หรือใช้วิธีประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง เนื่องจากอาการคันเกิดขึ้นจากความระคายเคือง โดยการใช้ผ้าขนหนูสะอาด ชุบน้ำเย็น บีบให้หมาด และวางเหนือบริเวณที่อาการลมพิษ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วจึงชุบผ้าด้วยน้ำเย็นอีกครั้ง ประคบอีกครั้ง เพื่อรักษาอุณหภูมิความเย็นที่ผิวหนังเอาไว้ ข้อควรระวัง หลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่เย็นจัด เพราะในบางรายอาจทำให้อาการแย่ลงได้
4. ระมัดระวังการใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาบางตัว
ยาบางตัวสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงตามมาได้ เช่น ยาต้านฮีสามีนในกลุ่ม Chlorpheniramine, Brompheniramine Hydroxyzine ซึ่งมีผลให้เกิดอาการง่วงนอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ รวมถึงยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่างยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ที่ช่วยลดอาการบวมแดงและอาการคัน ควรใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ตับอ่อนอักเสบ ความดันโลหิตสูงรุนแรง หายใจถี่ เจ็บหน้าอก
5. หลีกเลี่ยงการแกะ เกา บริเวณผื่นลมพิษ
ไม่ควรแกะ เกาผิวหนังบริเวณที่มีผื่นลมพิษ เนื่องจากอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา เกิดเป็นแผลและมีอาการติดเชื้อลุกลามตามมาได้
6. อยู่ในที่ที่อากาศสะอาดปลอดโปร่ง
หลายครั้งลมพิษเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษแบบที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เราอาจจะคิดว่าบริเวณนั้นสะอาดแล้ว แต่จริง ๆ กลับมีมลพิษอย่างฝุ่นละอองเล็ก ๆ ควันต่าง ๆ จึงส่งผลให้เกิดอาการลมพิษขึ้นมาได้ ทางที่ดีที่สุด ควรพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศดี ปลอดโปร่ง และอากาศ หากอยู่ที่บ้าน แนะนำให้ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ หมั่นทำความสะอาดผ้าม่าน มู่ลี่ รวมถึงเครื่องปรับอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคชั้นดี
7. ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่แน่นคับจนเกินไป
การใส่เสื้อผ้าที่แน่นคับเกินไป จะเกิดการกดรัดบริเวณผิวหนังซ้ำ ๆ ทำให้เม็ดเลือดขาวปล่อยสารฮีสตามีนออกมา จึงเป็นสาเหตุให้เกิดลมพิษ มีอาการคัน แสบ หรือบวมเจ็บบริเวณที่ถูกรัดได้
8. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคลมพิษ เนื่องจากในระหว่างที่เรานอนหลับ ร่างกายจะสร้างไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันของเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายมากถึง 2 เท่า ถ้าเรานอนหลับได้มากพอ เราก็จะมีภูมิต้านทานในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้
9.พยายามไม่เครียด หรือหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย
พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป ความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดลมพิษได้ เนื่องจากเมื่อเราเครียด ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้ต่อมไขมันทำงานหนักมากขึ้น เกิดอาการผิวมัน อักเสบได้ง่าย ดังนั้นอาจจะลองหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป
10. ตัวช่วยเสริมเพื่อช่วยดูแลสุขภาพอีกทางหนึ่ง
สำหรับใครที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง อย่าลืมมองหาตัวช่วยดีๆ ที่เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายด้วยนะ โดยสารอาหารสำคัญที่ควรมองหาเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือวิตามินซี และต้องมีส่วนช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและฟื้นฟูเต็มที่ด้วย อย่างเช่นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดผง Cele Foos ที่มาพร้อมวิตามินซีสูงจากผลไม้หลายชนิด ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน เพียงแค่ชงดื่มก่อนนอนหรืแอระหว่างวัน คู่กันกับ Cele Nue ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของผลไม้หลายชนิด มีวิตามินซีสูง และวิตามินบี 1 บี 2 มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ชงดื่มเติมความสดชื่นในเวลากลางวัน ที่สำคัญอย่าลืมรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงเพียงเท่านี้ก็ห่างไกลจากโรคลมพิษได้แล้วค่ะ
ลมพิษอาจดูน่ากลัวและอันตราย แต่หากเราดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นสังเกตตัวเอง เพื่อหาต้นเหตุของอาการแพ้ตามที่เราได้นำมาฝาก พร้อมจดบันทึกว่าผื่นที่ขึ้นมานั้นเกิดขึ้นในช่วงใดของวัน ระหว่างการทำกิจกรรมใด ภายหลังรับประทานอาหารหรือยาตัวใด ก็จะช่วยค้นหาสาเหตุและป้องกันการเกิดโรคลมพิษได้แล้วค่ะ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://bit.ly/3vuEdUN
https://bit.ly/2R1fIzy
https://bit.ly/34qXSsW
https://mayocl.in/34qtO0s
https://bit.ly/34ndUE7
https://bit.ly/3bYqoGv